เทคนิคการทำงานเป็นทีมกับคนต่างวัย จะกี่ Gen ก็ Blend เข้ากันได้
ในปัจจุบัน คงไม่มีองค์กรใดสามารถปฏิเสธได้ ว่าปัญหาที่ทุกองค์กรต้องพบเจออยู่เสมอ คือเรื่องความท้าทายในการจัดการทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะบริษัทที่เปิดมาอย่างยาวนาน ย่อมต้องมีบุคคลระดับหัวหน้า และผู้บริหารที่ทำงานมานานเคียงคู่กับบริษัท ไปจนถึงการรับสมัครพนักงานรุ่นใหม่ อายุน้อยที่มีการผลัดเปลี่ยนเวียนเข้ามาเพื่อสานต่อการทำงานของบริษัทให้ราบรื่น เกิดเป็นการผสมผสานระหว่าง Generation
แน่นอนว่าการนำบุคคลที่มีความสามารถ พร้อมทั้งมีคุณสมบัติเหมาะสมมาทำงานร่วมกันภายใต้แรงกดดัน บางครั้งอาจต้องเผชิญกับปัญหาในการทำงานที่มีช่องว่างระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า Generation Gap ซึ่งเป็นความแตกต่างระหว่างวัย ที่ทำให้ชุดความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมการสื่อสารไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละ generation มีแนวคิด และลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร รวมไปถึงวิธีการปรับตัวให้เข้ากับการทำงานร่วมกัน
Generation คืออะไร และทำความรู้จักกับ Generation Gap ปัญหาใหญ่ที่ทุกออฟฟิศต้องเจอ
Generation หรือที่นิยมเรียกกันว่า คือ การแบ่งกลุ่มประชากร ตามหลักประชากรศาสตร์ (Demography) โดยการจัดกลุ่ม Generation จะแบ่งไปตามช่วงปีเกิด โดยปัจจุบัน มีการแบ่งออกเป็น 5 Gen คือ
1.Generation Baby Boomers (Gen B)
คือผู้ที่เกิดในคริสต์ศักราช 1946 – 1964 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคนในยุคสมัยดังกล่าวจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว และมีพี่น้องเป็นจำนวนมาก จึงเติบโตมาด้วยความเข้มงวด มีระเบียบวินัย และต้องใช้ความอดทนในการดำรงชีวิตภายใต้ทรัพยากรจำกัด อันทำให้เกิดการแบ่งเป็นบุคลิกสุดขั้ว 2 ด้าน คืออุปนิสัยแก่งแย่งชิงดี อันเกิดจากความไม่มั่นคงในตนเอง ความกลัวที่จะสูญเสีย หรือความต้องการที่จะได้รับการยอมรับ และอุปนิสัยที่ชอบแบ่งปัน ช่วยเหลือ ยึดถือการทำเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นตั้ง
การทำงานของคนใน Generation Baby Boomers จะอยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องทำอย่างไรให้องค์กรก้าวหน้า เพราะมองตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กร มีความเชื่อว่าการทำงานหนักจะให้ผลตอบแทนที่ดี เชื่อเรื่องการสร้างความมั่นคงในระยะยาว จึงมีอัตราการเปลี่ยนงานน้อย และจงรักภักดีต่อองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีความมั่นคงสูง และมองเรื่องตำแหน่งในระยะยาว มากกว่าการคิดถึงเรื่องเงินในระยะสั้น คน Generation Baby Boomers จึงไม่ถนัดเรื่องการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ชอบงานที่มีโครงสร้างชัดเจน และต้องการความเคารพจากเพื่อนร่วมงานสูง
ดังนั้นในเรื่องการสื่อสาร คน Generation Baby Boomers จะชอบลักษณะการสื่อสารแบบเผชิญหน้า (Face to face communication) อย่างเป็นทางการ มากกว่าการสนทนาผ่านข้อความดิจิทัล เพราะต้องการทราบปฏิกิริยาตอบสนองจากการสื่อสารทันที และเมื่อต้องสื่อสารอย่างเป็นทางการ จึงคาดหวังการตอบกลับอย่างเป็นทางการ เป็นรายลักษณ์อักษรชัดเจน
2.Generation X (Gen X)
คือผู้ที่เกิดในคริสต์ศักราช 1967 – 1980 เติบโตมาในช่วงที่สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงสิ้นสุดของสงครามเย็น เริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ พี่น้องเริ่มน้อยลง ทรัพยากรในครอบครัวมากขึ้น จึงมีลักษณะนิสัยมั่นใจในตัวเองสูง ชอบที่จะพยายามจะทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะมองความมั่นคง และความก้าวหน้าในชีวิตเป็นหลัก ต้องการกำหนดแบบแผนในชีวิตให้ชัดเจน และมองการทำงานเป็นเป้าหมายหลักในชีวิต แต่มีการให้ความสำคัญ เรื่องสมดุลระหว่างการทำงาน และการพักผ่อน (Work life balance) เพิ่มเข้ามาจากคนใน Generation Baby Boomers
ดังนั้นในเรื่องของการทำงาน คน Generation X จึงต้องการโครงสร้าง และทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน ชอบที่จะบริหาร จัดการ และวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ทำงานเป็นทีมได้ดี และเป็นบุคคลที่ถูกมอบความไว้วางใจให้เสมอ
สำหรับการสื่อสารในการทำงานอย่างเป็นทางการ จะใช้สื่อสิ่งพิมพ์ และอีเมลเป็นหลัก หากเป็นการประชุม พบปะ จะไม่นิยมการประชุมที่ไม่มีจุดหมายชัดเจน หรือใช้เวลานาน ยืดเยื้อจนเกินไป
3.Generation Y (Gen Y)
ผู้ที่เกิดในคริสต์ศักราช 1981 – 1996 หรือที่เรียกว่าคน Gen Y เติบโตในยุคที่สังคมเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกสู่ยุคดิจิทัล ถนัดในการสื่อสารออนไลน์ เล่นโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม ชอบการสื่อสารที่ง่าย รวดเร็ว และตรงไปตรงมา คน Generation Y มักถูกเรียกว่าเป็น Gen แห่งคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะรักในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ดี รับฟังความเห็น ปรับตัวเก่งกว่า Generation อื่น แต่ก็มาพร้อมความต้องการสร้างสมดุลในชีวิตเยอะมากขึ้น คนใน Generation นี้ จึงแยกระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันชัดเจน
ในแง่ของการทำงาน คน Generation Y ต้องการฟีคแบคในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องการพัฒนาตัวเอง มองหาความท้าทาย และความก้าวหน้าในอาชีพ อยากเติบโตไว มีความกระตือรือร้น ทำงานเป็นทีมได้ดี ในด้านของการสื่อสารสามารถปรับตัวได้หลายรูปแบบ แต่ยังต้องการการตอบกลับที่ชัดเจน ตรงประเด็น และรวดเร็ว
4.Generation Z (Gen Z)
ผู้ที่เกิดในคริสต์ศักราช 1997 – 2009 เติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และความสะดวกสบาย จึงมีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้ดี เชี่ยวชาญการใช้เทคโนโลยีแทบจะทุกรูปแบบ จึงมีนิสัยอยู่กับโลกโซเชียล เทคโนโลยี มือถือ แทปเล็ต ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลต่าง ๆ หรือคุยกับบุคคลอื่น คน Generation Z มักจะมีมุมมองที่หลากหลาย เรียนรู้ และตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว กล้าแสดงออก มีความมั่นใจสูง มีใจเปิดกว้างทางความคิด และวัฒนธรรมที่แตกต่าง
ในด้านของการทำงาน คนใน Generation นี้ มีโอกาสพัฒนาตนเองสูง เนื่องจากชอบการทำงานที่ท้าทาย ไม่น่าเบื่อ ถนัดในการทำงานหลากหลายอย่างพร้อมกัน แต่มีความอดทนน้อย เนื่องด้วยนิสัยชอบความรวดเร็วทันใจ ชอบการสื่อสารในรูปแบบสั้น ๆ ได้ใจความ โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านโปรแกรมแชทในรูปแบบพิมพ์เป็นตัวอักษร เพราะง่ายต่อการสื่อสารที่รวดเร็ว ตรงประเด็น และ คนใน Generation Z ไม่ต้องการการสื่อสารเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงาน
5.Generation Alpha (Gen Alpha)
ผู้ที่เกิดในคริสต์ศักราช 2010 – 2024 เป็นกลุ่มที่เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีต่างรุ่งเรืองถึงขีดสุด การใช้ชีวิตที่ขาดอินเทอร์เน็ต และเครื่องมือสื่อสารแทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ได้ยึดติดกับอาชีพที่มั่นคง หรือการทำงานประจำ ในที่ทำงานเสมอไป แต่จะทำในเฉพาะในสิ่งที่สนใจเท่านั้น ชอบที่จะลองทำอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง รักการทำงานที่ท้าทาย ไม่ชอบความซ้ำซากจำเจ จึงมีโอกาสเปลี่ยนงานสูงและถี่ และออกมาทำธุรกิจ เป็นเจ้านายตัวเองมากขึ้น เรียกได้ว่ากลุ่มคน Generation Alpha จะเป็นกำลังหลักสำคัญในอนาคต เนื่องด้วยความฉลาด หลักแหลม ประกอบกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยีถึงขีดสุด
เทคนิคการทำงานเป็นทีมกับคนต่างวัย จะกี่ Gen ก็ Blend เข้ากันได้ ด้วย Empathy, Growth Mindset, Design Thinking
ในยุคที่องค์กรมีความหลากหลายของ Generation มากขึ้น ตั้งแต่ Baby Boomers จนถึง Generation Z ทำให้เกิด “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ Generation Gap ทั้งในเรื่องความแตกต่างกันของความคิดเห็น ความเชื่อ ค่านิยม หรือทัศนคติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง และการสื่อสารที่ซับซ้อน เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น จำเป็นต้องอาศัยการปรับตัวที่มาจากความเข้าใจและความยืดหยุ่นในทุกด้าน
หัวใจสำคัญในการลดช่องว่างนี้คือ ความเข้าใจผู้อื่น, การหาจุดร่วมในการแก้ปัญหา, และ ปรับมุมมองทางความคิดในการนำเสนอด้วยรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งต้องเกิดจากทั้งสองฝ่าย ความเข้าใจถึงความแตกต่างของกันและกันจะช่วยให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพและยอมรับแนวคิดที่หลากหลายได้
การที่เราเข้าใจลักษณะและความคิดของผู้คนในแต่ละ Generation จะช่วยให้เราเข้าถึงการทำงานและการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะสร้างโอกาสให้พนักงานทุกช่วงวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุย และรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกันอย่างจริงจัง
transcosmos ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการความหลากหลายระหว่าง Generation จึงมีการจัด Workshop และกิจกรรม Team Building เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ กระชับความสัมพันธ์ และลดช่องว่างระหว่างวัยในองค์กร เพราะไม่ว่าความคิดจะแตกต่างกันแค่ไหน ทุกคนก็มีเป้าหมายร่วมกันคือการสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน